วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง ที่อยู่ 98 หมู่ 3 ตำบลลาดบัวขาว อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
โทรศัพท์: 032-720351 โทรสาร: 032-720352
E-mail: saraban@bpg.ac.th
Website: www.bpg.ac.th
ประวัติสถานศึกษา
วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ในพื้นที่ธรณีสงฆ์วัดรางวาลย์ บ้านทุ่งทอง หมู่ที่ 3 ตำบลลาดบัวขาว อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในเนื้อที่ทั้งหมด 50 ไร่ มีประวัติความเป็นมา ดังนี้
กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายให้กรมอาชีวศึกษา จัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพระดับอำเภอในแผนพัฒนาอาชีวศึกษาระยะที่ 7 (2535 – 2539) จำนวน 60 แห่ง จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่ง ในเป้าหมายการจัดตั้งวิทยาลัยดังกล่าว กรมอาชีวจึงมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังคณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดราชบุรี เพื่อช่วยดำเนินการเสาะหาที่ดินสำหรับจัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพระดับอำเภอในจังหวัดราชบุรี
ในการนี้ คณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัดราชบุรี ได้หมอบหมายให้ นายวิเชียร ตันตระเสนีย์ เป็น ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพจังหวัดราชบุรีและดำเนินการเสาะหาที่ดินในอำเภอต่างๆ ที่มีความเหมาะสมและอยู่ในเกณฑ์ตามกำหนดสำหรับการจัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา โดยได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการดำเนินการ และคำปรึกษาจาก นายอัมพร ภักดีชาติ ผู้อำนวยการกองการศึกษาอาชีพ (ตำแหน่งในขณะนั้น) นายไพศาล จริตพจน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่งวิทยาลัยสารพัดช่างราชบุรี (ตำแหน่งในขณะนั้น) นายเผดิมชัย ศรีวิเชียรผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ในฐานประธารกรรมการ อาชีวศึกษาจังหวัดราชบุรี และ(ตำแหน่งในขณะนั้น)แล้วได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐบาลและเอกชนในแต่ละละอำเภอเป็นอย่างดี เช่นผู้ว่าราชการ จังหวัดราชบุรี (ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล) นายอำเภอบ้านโป่ง (นายบวร รัตนประสิทธิ์) ศึกษาธิการอำเภอบ้านโป่ง (นายสุปิติ ขุนภักดี) กำนันตำบลลาดบัวขาว (นายบุญชู แพทย์รอบรู้) เป็นต้น ที่ดินที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด ได้แก่ ที่ธรณีสงฆ์ วัดรางวาลย์ ในอำเภอบ้านโป่ง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากพระครูพิบูลธรรมโกสล (พระอธิการฉลาด อติพโล มสณศักดิ์ในขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดรางวาลย์ ยินดีอนุญาตให้กรมอาชีวศึกษาใช้เป็นสถานที่จัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศได้ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2537 ได้งบประมาณในการก่อสร้าง ปี 2539 และได้ดำเนินการสอนในระดับ ปวช. ในปีการศึกษา 2541 เป็นต้นมา






สถานที่ตั้ง
วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ธรณีสงฆ์วัดรางวาลย์ บ้านทุ่งทอง หมู่ที่ 3 ตำบลลาดบัวขาว อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในเนื้อที่ทั้งหมด 50 ไร่
การจัดการศึกษา
วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง มีการจัดการศึกษาดังนี้
- หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3 ) หรือเทียบเท่า เข้าศึกษาต่อเป็นเวลา 3 ปี ภาคสมทบและเทียบโอนประสบการณ์รับผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการและบุคคลทั่วไปที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) หรือเทียบเท่า มี 6 สาขางาน ดังนี้
(1) สาขางานยานยนต์
(2) สาขางานไฟฟ้ากำลัง
(3) สาขางานการบัญชี
(4) สาขางานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
(5) สาขางานการโรงแรม
(6) สาขางานธุรกิจค้าปลีก - หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)รับผู้สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.6) หรือเทียบเท่า และ ปวช. ทุกสาขา เข้าศึกษาต่อเป็นระยะเวลา 2 ปี มี 5 สาขางาน ดังนี้
(1) สาขางานเทคนิคยานยนต์ (ทวิภาคี)
(2) สาขางานติดตั้งไฟฟ้า (ทวิภาคี)
(3) สาขางานการบัญชี
(4) สาขางานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
(5) สาขางานการบริการส่วนหน้าโรงแรม (ทวิภาคี)
วิสัยทัศน์
จัดการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม และผลิต กำลังคนอย่างมีคุณภาพสู่ความยั่งยืน
ข้อมูลปรัชญา อัตลักษณ์ เอกลักษณ์
ปรัชญา
ทักษะเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม ล้ำเลิศวิชา พัฒนาฝีมือ
อัตลักษณ์
ทักษะดี มีจิตบริการ
เอกลักษณ์
บริการวิชาชีพสู่ชุมชน
ข้อมูลสภาพชุมชน เศรษฐกิจ สังคม
สภาพชุมชน
ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่อ้อย ทำนาข้าว ชุมชนของราชบุรี ประกอบด้วย 8 ชาติพันธุ์ คือ
1) ชาวไทยพื้นถิ่นราชบุรี
2) ชาวจีนราชบุรี
3) ชาวไทยยวนราชบุรี
4) ชาวมอญราชบุรี
5) ชาวเขมรราชบุรี
6) ชาวกะเหรี่ยงราชบุรี
7) ชาวลาวเวียงราชบุรี
8) ลาวโซ่งราชบุรี (ไทยดำ)
สภาพเศรษฐกิจ
ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่อ้อย ทำนาข้าว แรงงานบางส่วนทำงานในสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้เคียงและประกอบอาชีพอิสระ โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดราชบุรี อุตสาหกรรมหลักของจังหวัดส่วนใหญ่จะอยู่ในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ผลผลิตที่ได้ไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับสภาพตามฤดูกาล ทำให้ระดับรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงสีข้าว สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่จะอยู่ในเขตอำเภอบ้านโป่ง และอำเภอโพธาราม ได้แก่ โรงงานผลิตภัณฑ์เซรามิค โรงงานน้ำตาลและผงชูรส โรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โรงงานผลิตกระดาษ อู่ต่อรถยนต์ เป็นต้น
สภาพสังคม
ประชากรจังหวัดราชบุรีมีอุปนิสัยรักความสวย ประหยัดและรักษาธรรมเนียมประเพณี ได้รับการศึกษาและการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง จังหวัดราชบุรี แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๐ อำเภอ ได้แก่ ๑)อำเภอเมืองราชบุรี ๒)อำเภอโพธาราม ๓)อำเภอบ้านโป่ง ๔)อำเภอดำเนินสะดวก ๕)อำเภอปากท่อ ๖)อำเภอวัดเพลง ๗)อำเภอบางแพ ๘)อำเภอจอมบึง ๙)อำเภอสวนผึ้ง และ ๑๐)อำเภอบ้านคา
แผนภูมิการบริหาร
